Search
× Search
Menu
  1. เกี่ยวกับเรา
  2. เอกสารเผยแพร่
  3. ข่าวประชาสัมพันธ์
  4. ระบบสารสนเทศ
    1. ระบบสารสนเทศภายใน
    2. ระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคล
  5. ร่วมงานกับ มศว

สวัสดิการและสิทธิประโยชน์

หน้าแรก / สวัสดิการและสิทธิประโยชน์

สวัสดิการและสิทธิประโยชน์บุคลากร

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แผนแม่บททรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระยะ 5 ปี พุทธศักราช 2566 – 2570

ตลอดระยะเวลา 73 ปี ที่มหาวิทยาลัยดำเนินการ และมีความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษาไทยมาโดยตลอดเป็นหนึ่งในองค์กรการศึกษาชั้นนำของประเทศ มหาวิทยาลัยมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามบริบท ที่เปลี่ยนไปทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกเพื่อให้สามารถ แข่งขันและสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในบริบทของสังคมในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำกรอบแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (ปีพุทธศักราช 2565 - 2580)เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การมุ่งเน้นด้านความผูกพันของบุลลากร
SI4.1 ประเด็นด้านสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ (Benefit and Welfare Issue)

ขอบเขต : ระบบการจัดการสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมเพียงพอต่อความจำเป็นพื้นฐานสำหรับ บุคลากรโดยคำนึกถึงความหลากหลาย ของบุคลากรเป็นสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรในแต่ ละบุคคลได้อย่างเหมาะสมและยุติธรรม

สถานการณ์ปัจจุบัน : มหาวิทยาลัยมีการจัดสวัสดิการสำหรับบุคลากรที่หลากหลาย อันได้แก่ ประกัน อุบัติเหตุ ประกันสุขภาพกลุ่ม สำหรับบุคลากร และครอบครัว ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษาบุตร การสร้าง เสริมสุขภาพ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชดเชยสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย และเงินช่วยเหลือ อื่น ๆ (SAมหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบการจัดการด้านสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่นที่สามารถตอบโจทย์สำหรับ บุคลากรที่มีความหลากหลาย (SC)

เป้าหมาย : เป้าหมายการจัดสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของบุคลากรอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม

image

สวัสดิการด้านการเงิน


image

สวัสดิการด้านสิทธิประโยชน์


image

สวัสดิการด้านการบริการ


สวัสดิการด้านการเงิน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อ่านรายละเอียดได้ที่ >> คลิก
ขอรหัสลงทะเบียนเพื่อเข้าระบบออนไลน์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มศว (SCB PVD online) >> คลิก

เงินกู้กองทุนสวัสดิการ


การกู้ยืมเงินกองทุนสวัสดิการ

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. วงเงินที่กำหนดให้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินเดือน หรือค่าจ้างประจำ แต่ไม่เกินกรอบวงเงินที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
2. ผู้ขอกู้จะต้องชำระหนี้ที่ค้างอยู่ไปแล้วไม่น้อยกว่า 5 งวดจึงจะสามารถขอยื่นกู้ครั้งต่อไปได้ แต่ทั้งนี้จะต้องนำเงินกู้ฉบับใหม่ไปชำระเงินกู้ฉบับเดิมก่อน ผู้กู้จะได้รับเงินส่วนที่เหลือเท่านั้น
3. ผู้ขอกู้จะต้องมีเงินเดือนเหลือเพียงพอให้หักชำระหนี้ในแต่ละเดือนและชำระเงินกู้ในวันสิ้นเดือนทุกเดือนแต่ไม่เกินระยะเวลา 10 เดือนพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่คณะกรรมการดำเนินงานสวัสดิการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กำหนด
4. ผู้ขอกู้จะต้องยินยอมให้ส่วนการคลัง หักเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำ เพื่อส่งใช้เงินกู้
5. ผู้ขอกู้ชำระเงินกู้ทั้งหมดภายใน 7 วัน ไม่คิดดอกเบี้ย
6. หากผู้ขอกู้ประสงค์จะขอลาออกหรือย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ราชการต่างสังกัด ผู้ขอกู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินงานสวัสดิการทราบและจัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นก่อน
7. หากผู้ขอกู้ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับมหาวิทยาลัยได้ ผู้ค้ำประกันยินยอมจะให้ส่วนการคลังหักเงินเดือน ค่าจ้างประจำ เพื่อชำระหนี้ให้ผู้ขอกู้
8. ผู้ขอกู้ยินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฉบับนี้ หากไม่เป็นไปตามนี้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ขอกู้ได้
9. ผู้ขอกู้จะต้องยื่นกู้เงินสวัสดิการภายใน วันจันทร์ - อังคาร และรับเงินกู้ในวันศุกร์ ของทุกสัปดาห์
10. กรณีผู้กู้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย - เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับพนักงานมหาวิทยาลัยมีสัญญาจ้าง ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และส่วนการคลังเป็นผู้เบิกจ่ายเงินเดือนให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันรายนั้นๆ - ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำค้ำประกันการขอกู้ให้ผู้กู้ได้ไม่เกิน 1 คน - พนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ค้ำประกัน ต้องมีสัญญาจ้างตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนเหลือจ่าย ต่อเดือนเพียงพอในการชำระหนี้ตามวงเงินที่ผู้กู้ต้องชำระในแต่ละเดือนและค้ำประกันให้ผู้กู้ได้ไม่เกิน 1 คน
11. กรณีผู้ขอกู้ลาออกหรือย้ายไปปฏิบัติงานต่างสังกัด มศว หนี้ค้างชำระที่เหลืออยู่เป็นเท่าใด จะหักจากเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ผู้ขอกู้มีสิทธิ์ได้รับ หากไม่พอจะเรียกเก็บจากผู้ค้ำประกันต่อไป 1. หนังสือขอกู้ยืมเงินกองทุนสวัสดิการ (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ส่วนการคลัง) 2. สำเนาบัตรประชาชนของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน กรณีข้าราชการและลูกจ้างประจำไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. หนังสือขอกู้ยืมเงินกองทุนสวัสดิการ (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ส่วนการคลัง)
2. สำเนาบัตรประชาชนของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน กรณีข้าราชการและลูกจ้างประจำไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย / เงินกู้เอนกประสงค์


เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยและเงินกู้อเนกประสงค์ ธนาคารที่ทำ MOU กับมหาวิทยาลัย 

หลักเกณฑ์และวิธีการ
สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานมหาวิทยาลัย สามารถกู้เงินเพื่ออเนกประสงค์และกู้เพื่อที่อยู่อาศัยได้ โดยธนาคารที่ทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์)
1. เงินกู้อเนกประสงค์ สามารถกู้ได้จาก ธนาคารกรุงไทย
2. เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย สามารถกู้ได้ทั้ง ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์


เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา ธนาคารกรุงไทย หรือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
1. หนังสือขอกู้เงินเพื่ออเนกประสงค์และที่อยู่อาศัย จากหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลากร
2. แบบฟอร์มหนังสือรับรองเงินเดือน (ธนาคารกรุงไทย)  / แบบฟอร์มหนังสือรับรองเงินเดือน (ธนาคารอาคารสงเคราะห์ - ใบผ่านสิทธิธนาคาร) แล้วแต่กรณี
3. สลิปเงินเดือน เดือนล่าสุด หมายเหตุ  หากมีผู้ค้ำประกันต้องแนบสลิปเงินเดือน เดือนล่าสุดของผู้ค้ำประกันด้วย (ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เท่านั้น)

เงินช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ


เงินช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ ไม่เกิน 20,000 บาท/ครั้งของภัยพิบัติ

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. เป็นภัยพิบัติร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะกิจ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
2. จ่ายให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยที่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่เสียหายหรือบ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบิดา/มารดา/สามี/ภรรยา/พี่น้อง ที่บุคลากรอาศัยอยู่จริง หรือมีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านเป็น “ผู้อาศัย”
3. อัตราการจ่ายให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการอำนวยการสวัสดิการมหาวิทยาลัย

เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. สำเนาบัตรประชาชนบุคลากร
2. สำเนาทะเบียนบ้านบุคลากรที่มีชื่อปรากฏในบ้านที่ประสบภัยพิบัติ
3. หน้งสือประกาศเขตภัยพิบัติจากจังหวัด
4. หนังสือรับรองการประสบภัยพิบัติจากผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/นายกองค์การบริหารส่วนตำบล/นายกเทศมนตรี/ผู้อำนวยการเขต ฯลฯ เป็นต้น
5. สำเนาบัตรประจำตัวผู้ออกหนังสือรับรองการประสบภัยพิบัติ
6. ภาพถ่ายบ้านที่ประสบภัยพิบัติ

เงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต


1. เงินช่วยเหลือหรือร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพ

1) กรณีบุคลากรและนิสิต ไม่เกิน 10,000 บาท/งาน
2)  กรณีบิดา มารดา บุตร และคู่สมรสของบุคลากรถึงแก่กรรม ไม่เกิน 5,000 บาท/งาน
หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. ให้ผู้บังคับบัญชาของบุคลากร/รองอธิการบดีเป็นผู้รับเงิน (แทน) หรือจ่ายให้แก่บุคลากรแล้วแต่กรณี
2. กรณีนิสิตเสียชีวิตให้จ่ายแก่ บิดา/มารดา/ผู้จัดการงานศพ
เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. หนังสือขอรับเงินช่วยเหลือหรือร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพ จากหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลากร
2. สำเนาใบมรณบัตรของผู้เสียชีวิต
3. สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีบิดา มารดา บุตร และคู่สมรสของบุคลากรเสียชีวิต)
4. สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน
5. ใบสำคัญรับเงิน (กรณีรับเงินแทน)


2. ค่าพวงหรีด ไม่เกิน 2,000 บาท/พวง

หลักเกณฑ์และวิธีการ ให้เบิกได้เฉพาะในนาม
- มหาวิทยาลัย
- อธิการบดี
- รองอธิการบดีที่กำกับดูแลบุคลากรในหน่วยงานนั้นๆ
- หน่วยงานที่บุคลากรนั้นสังกัด
- สภาคณาจารย์และพนักงาน
เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. หนังสือขอรับเงินค่าพวงหรีด จากหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลากร
2. ใบเสร็จรับเงินค่าพวงหรีด พร้อมลงลายมือชื่อผู้จ่ายเงินในใบเสร็จรับเงินค่าพวงหรีด
3. สำเนาใบมรณบัตรของผู้เสียชีวิต
4. สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน
5. ใบสำคัญรับเงิน (กรณีรับเงินแทน)


3. ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 5,000 บาท/ครั้ง


4. ค่าตอบแทนพนักงานขับรถยนต์ (กรณีใช้รถยนต์ของมหาวิทยาลัย) ไม่เกิน 500 บาท/ครั้ง/วัน

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. เช่าเหมารถยนต์หรือรถยนต์ของมหาวิทยาลัยเพื่อเดินทางไปร่วมงานสวดอภิธรรม ฌาปนกิจ หรืองานพิธีกรรมทางศาสนา
2. ให้รองอธิการบดี/ผู้บังคับบัญชาของบุคลากรเป็นผู้รับเงิน (แทน) หรือจ่ายให้บุคลากรแล้วแต่กรณี
3. จ่ายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง/งาน
เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. หนังสือขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานสวดอภิธรรม ฌาปนกิจ หรืองานพิธีกรรม ทางศาสนา จากหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลากร
2. ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าเหมารถยนต์/ ใบลงเวลาปฏิบัติงานไปราชการของพนักงานขับรถ พร้อมลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน
3. สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน
4. ใบสำคัญรับเงิน (กรณีรับเงินแทน)
5. ใบเสร็จค่าทางด่วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้จ่ายเงินในใบเสร็จ
6. หลักฐานการจ่ายเงิน


เงินช่วยเหลือกรณีประสบอุบัติเหตุ


เงินช่วยเหลือกรณีประสบอุบัติเหตุสำหรับบุคลากร ไม่เกิน 5,000 บาท/คน

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. เกิดอุบัติเหตุในระหว่างปฏิบัติงานและต้องเข้ารักษาตัวเป็นคนไข้ใน
2. อัตราการจ่ายให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการอำนวยการสวัสดิการมหาวิทยาลัย

เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. หนังสือขอรับเงินช่วยเหลือกรณีประสบอุบัติเหตุ จากหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลากร
2. ใบรับรองแพทย์
3. ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา
4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคารของผู้รับเงิน
5. ใบสำคัญรับเงิน (กรณีรับเงินแทน)


เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล


เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล – กรณีประเภทคนไข้ใน

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยเข้ารักษาตัวเป็นคนไข้ใน
2. ให้พนักงานที่ป่วยหรือผู้บังคับบัญชาของผู้ป่วยยื่นขอรับเงินภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
3. แนบใบรับรองแพทย์ เพื่อประกอบการพิจารณา


เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา

1. หนังสือขอรับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล – กรณีคนไข้ใน จากหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานมหาวิทยาลัย
2. ใบรับรองแพทย์
3. ใบรับรองแทนใบเสร็จส่วนราชการออกให้ (แบบ บก.111)
4. สำเนาบัตรประชาชนของพนักงานมหาวิทยาลัย หรือผู้รับเงินแทน
5. ใบสำคัญรับเงิน (กรณีรับเงินแทน)


เงินชดเชย


เงินชดเชย

หลักเกณฑ์และวิธีการ 
1. พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่การพ้นสภาพตามมาตรา 57 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2559 ให้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย ตามอัตราดังต่อไปนี้
1.1 เมื่อปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้ได้รับอัตราเงินชดเชย 1 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้าย
1.2 เมื่อปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้ได้รับอัตราเงินชดเชย 3 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้าย
1.3 เมื่อปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้ได้รับอัตราเงินชดเชย 6 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้าย
1.4 เมื่อปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้ได้รับอัตราเงินชดเชย 8 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้าย
1.5 เมื่อปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้ได้รับอัตราเงินชดเชย 10 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้าย
2. การนับระยะเวลาปฏิบัติงาน
2.1 พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างก่อนวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 ให้นับระยะเวลาปฏิบัติงานเพื่อคำนวณเงินชดเชย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2559
2.2 พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2559 ให้นับระยะเวลาปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ได้รับการจ้าง จนถึงวันพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
2.3 พนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพมาจากข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ ให้นับระยะเวลาปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่จ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จนถึงวันพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
3. พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างจากแหล่งงบประมาณอื่น นอกเหนือจากงบเงินอุดหนุนจากรัฐบาลรายการค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ ให้ส่วนงานเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชย
4. อัตราการจ่ายเงินชดเชยตามที่ กบบ.กำหนด

เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. แบบคำขอรับเงินชดเชยพนักงานมหาวิทยาลัย (แบบ ช.พม.1 หรือ แบบ ช.พม.2)
2. คำสั่งจ้าง/เปลี่ยนสถานภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
3. คำสั่งที่ระบุอัตราเงินเดือนสุดท้าย
4. หนังสือ/คำสั่งให้พนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย/ประกาศเกษียณอายุงานหรือเอกสารที่ระบุการพ้นสภาพฯ


เงินบำเหน็จ / บำนาญ


สอบถามรายละเอียดได้ที่

งานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ส่วนทรัพยากรบุคคล

สวัสดิการด้านสิทธิประโยชน์

กองทุนประกันสังคม


สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับจากการเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม

1. ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2. ทุพพลภาพ
3. ตาย
4. คลอดบุตร
5. สงเคราะห์บุตร
6. ชราภาพ
7. ว่างงาน
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th  หรือ สายด่วนประกันสังคม โทร. 1506  

ประกันอุบัติเหตุ / ประกันสุขภาพกลุ่ม


สอบถามรายละเอียดได้ที่

งานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ส่วนทรัพยากรบุคคล

สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล


เงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล (15,000 บาท* ต่อปี ต่อคน)

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยและบุคคลในครอบครัวเข้ารักษาตัว ทั้งประเภทผู้ป่วยในและประเภท ผู้ป่วยนอก
2. พนักงานมหาวิทยาลัยหรือบุคคลในครอบครัว ที่มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานอื่นให้ใช้สิทธิเบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน และเมื่อได้ใช้สิทธิไปแล้ว ปรากฏว่าเงินที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่ารักษาพยาบาล สามารถเบิกเงินสวัสดิการได้เฉพาะในส่วนที่ขาดอยู่ ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิทธิ 15,000 บาท 
- กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยและบุคคลในครอบครัว ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันที่มหาวิทยาลัยจัดทำให้แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลอีก เว้นแต่ค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไป ให้มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ โดยไม่เกินสิทธิ 15,000 บาท
- กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยและคู่สมรสเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองฝ่าย หากขอเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของตนเองหรือบุตรจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เพียงพอ ให้ขอเบิกส่วนที่ขาดจากอีกฝ่ายหนึ่งได้
- ค่าตรวจสุขภาพประจำปี ให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิเบิกได้เฉพาะสำหรับตนเองปีงบประมาณละ 1 ครั้ง บุคคลในครอบครัวไม่สามารถเบิกได้
3. ให้พนักงานมหาวิทยาลัยยื่นเรื่องขอเบิกเงินภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ในใบเสร็จที่สถานพยาบาลออกให้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวถือว่าสละสิทธิการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลในครั้งนั้น กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยถึงแก่กรรม ให้บุคคลในครอบครัวคนใดคนหนึ่งหรือผู้จัดการมรดกเป็นผู้ยื่นเรื่อง
4. แนบใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ เอกสารประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณา
กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ประสงค์จะให้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลโดยตรงจากมหาวิทยาลัย ดำเนินการดังนี้
1. ให้พนักงานมหาวิทยาลัยยื่นความประสงค์ขอใช้สิทธิเข้ารับการรักษาแต่ละครั้งที่ส่วนงานต้นสังกัด
2. ให้ส่วนงานต้นสังกัดออกหนังสือรับรองสิทธิที่ระบุจำนวนเงินสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัยที่คงเหลืออยู่จริงตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด ต้นฉบับมอบให้พนักงานมหาวิทยาลัยนำไปยื่นที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานแล้วแต่กรณี สำเนาให้ส่วนงานต้นสังกัดบันทึกงดการเบิกจ่ายสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัยรายนี้จนกว่าจะได้รับใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล กรณีค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าวงเงินสวัสดิการที่พนักงานมหาวิทยาลัยมีเหลืออยู่ พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินนั้น
3. ให้ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ส่งใบแจ้งหนี้ ใบแจ้งรายการค่ารักษาพยาบาล ใบรับรองแพทย์ ให้ส่วนงานต้นสังกัดของพนักงานมหาวิทยาลัย ดำเนินการเบิกค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ต้องไม่เกินวงเงินในหนังสือรับรองสิทธิที่ส่วนงานออกให้ 
4. ให้ส่วนงานต้นสังกัดส่งใบเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล พร้อมใบแจ้งหนี้ ใบแจ้งรายการค่ารักษาพยาบาล ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองสิทธิของพนักงานมหาวิทยาลัยมาที่ส่วนการคลัง สำนักงานอธิการบดีเพื่อเบิกจ่ายศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องไม่เกินวงเงินสวัสดิการที่พนักงานมหาวิทยาลัยมีเหลืออยู่ 
เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. ใบเบิกเงินสวัสดิการ – ค่ารักษาพยาบาล
2. ใบรับรองแพทย์
3. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา
4. หนังสือรับรองการเป็นผู้จัดการมรดก (กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยถึงแก่กรรม)
5. สำเนาหน้าบัญชีธนาคารของผู้รับเงิน


สวัสดิการค่าเสริมสร้างสุขภาพ

เงินสวัสดิการค่าเสริมสร้างสุขภาพ (6,000 บาท* ต่อปี ต่อคน)

หลักเกณฑ์และวิธีการ
รายการอุปกรณ์ออกกำลังกายอันเกี่ยวเนื่องและจำเป็นต้องใช้ในการออกกำลังกาย สำหรับเบิกค่าสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2565 >> คลิก

สวัสดิการค่าการศึกษาบุตร


เงินสวัสดิการค่าการศึกษาบุตร (15,000 บาท* ต่อปี ต่อคน)

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิเบิกค่าธรรมเนียมการศึกษาหรือค่าบำรุงการศึกษา สำหรับบุตรโดยชอบด้วย กฎหมาย ซึ่งมีอายุครบ 3 ปีแต่ไม่เกิน 25 ปี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ที่กำลังศึกษาในระกับไม่สูงกว่าระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และไม่มีรายได้เป็นของตนเอง
2. กรณีที่สถานศึกษาในต่างประเทศเป็นผู้ออกหลักฐานการรับเงินตามหลักสูตรการศึกษาที่เป็นความร่วมมือ ข้อตกลง โครงการพิเศษของสถานศึกษาในประเทศ ที่ได้กำหนดให้ผู้ศึกษาต้องไปศึกษา หรือสมัครไปศึกษาในสถานศึกษาในต่างประเทศ ให้สถานศึกษาในประเทศที่เป็นเจ้าของหลักสูตร รับรองรายการที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรที่กำหนด ระบุภาคการศึกษา ปีการศึกษา และให้มีคำแปลเป็นภาษาไทยด้วย
3. กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยและคู่สมรสเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองฝ่าย หากขอเบิกเงินสวัสดิการค่าการศึกษาบุตรจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เพียงพอ ให้ขอเบิกส่วนที่ขาดจากอีกผ่ายหนึ่งได้
4. พนักงานมหาวิทยาลัยหรือคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าการศึกษาบุตรจาหน่วยงานอื่น ให้ใช้สิทธิเบิกเงินค่าการศึกษาบุตรจาหน่วยงานนั้นก่อน และเมื่อได้ใช้สิทธิไปแล้ว ถ้าปรากฏว่าเงินที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าการศึกษาบุตร สามารถเบิกเงินสวัสดิการได้เฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิทธิ 15,000 บาท
เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. ใบเบิกเงินสวัสดิการ – ค่าการศึกษาบุตร
2. ใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาภายในระยะเวลา 1 ปีนับถัดจากวันที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษา หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวถือว่าสละสิทธิการเบิกเงินสวัสดิการค่าการศึกษาบุตรของใบเสร็จรับเงินฉบับนั้น
3. เอกสารหลักฐานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร ระบุภาคการศึกษา ปีการศึกษา


สวัสดิการโรงเรียนสาธิต มศว


การนำบุตรเข้าโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

หลักเกณฑ์และวิธีการ 
1. ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยต้องมีผลการประเมินการปฏิบัติงานประจำปีตั้งแต่ระดับดีขึ้นไปติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
2. เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม
3. ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนด
4. คุณสมบัติของบุตร ต้องเป็นไปตามที่โรงเรียนสาธิตกำหนด
5. พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดแสดงหลักฐาน หรือยื่นคำขอรับบุตรเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตโดยทุจริต จะต้องรับโทษทางวินัยและถูกตัดสิทธิในการนำบุตรเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตตลอดไป
6. กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนำบุตรเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตของพนักงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นอำนาจของอธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยหรือสั่งการเป็นประการใดให้ถือปฏิบัติไปตามนั้นและให้ถือเป็นที่สุด 
เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. แบบฟอร์มแจ้งความประสงค์บุตรเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
2. ผลประเมินการปฏิบัติงาน 3 ปีย้อนหลัง
3. ใบสูติบัตรบุตรของบุคลากรที่ประสงค์นำบุตรเข้าโรงเรียนสาธิต
4. หนังสือรับรองการจดทะเบียนรับรองบุตร (กรณีบุตรที่เกิดจากบิดา และมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเท่านั้น)
5. สำเนาทะเบียนบ้านของบุคลากรที่ประสงค์นำบุตรเข้าโรงเรียนสาธิต ที่มีชื่อบุตรของบุคลากรในสำเนาทะเบียนบ้านเป็น “ผู้อาศัย”หรือ เป็นผู้มี “กรรมสิทธิ์”
6. สำเนาบัตรประชาชนของบุคลากรที่ประสงค์นำบุตรเข้าโรงเรียนสาธิต
7. สำเนาบัตรประจำตัวบุคลากรที่ประสงค์นำบุตรเข้าโรงเรียนสาธิต


สวัสดิการศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน


ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สำหรับบุตรพนักงาน ณ โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)

หลักเกณฑ์และวิธีการ
- เพื่อแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูบุตร ให้แก่อาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัยในระหว่างวันทำการ จึงมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
- คุณสมบัติของบุตรที่จะเข้าศูนย์ฯ และค่าใช้จ่ายเป็นไปตามที่โรงเรียนสาธิตกำหนด


พระราชทานเพลิงศพ


การขอพระราชทานเพลิงศพ

หลักเกณฑ์และวิธีการ 
1. ข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 หรือข้าราชการตามระบบจำแนกประเภทตำแหน่ง ระดับปฏิบัติงานและประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ (รับราชการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป) /พนักงานมหาวิทยาลัย
2. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ (บ.ภ.) และเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) ขึ้นไป
กรณีขอพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ
1. บิดามารดาของข้าราชการ ดังนี้
1.1 ข้าราชการระดับ 6 ขึ้นไป
1.2 ข้าราชการตามระบบจำแนกประเภทตำแหน่ง ประเภททั่วไป ระดับชำนาญงานขึ้นไป
1.3 ข้าราชการตามระบบจำแนกประเภทตำแหน่ง ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการขึ้นไป
2. บิดามารดาของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) ขึ้นไป หมายเหตุ บุคคลผู้ทำลายชีพตนเองและผู้ต้องอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถขอพระราชทานเพลิงศพและเครื่องเกียรติยศมาประกอบศพ
เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. หนังสือจากมหาวิทยาลัย (ขอพระราชทานกรณีปกติ)
1.1 ระบุ ชื่อ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ของผู้ถึงแก่กรรม
1.2 ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด
1.3 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อะไรบ้าง
1.4 มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพอย่างใดบ้าง
1.5 ระบุวัน เวลา สถานที่ที่จะฌาปนกิจ
2. หนังสือขอพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ ถึงเลขาธิการพระราชวัง
2.1 ชื่อ – สกุล และประวัติโดยย่อของผู้ถึงแก่กรรม
2.2 ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด
2.3 ระบุคณงามความดีที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ หรือคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
2.4 ระบุวัน เวลา สถานที่ที่จะฌาปนกิจ
3. ใบมรณบัตรพร้อมสำเนาของของผู้ถึงแก่กรรม
4. บัตรประจำตัวข้าราชการพร้อมสำเนา / บัตรพนักงานมหาวิทยาลัยพร้อมสำเนา ของผู้ถึงแก่กรรมและของทายาท
5. ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนาของผู้ถึงแก่กรรมและของทายาท


เครื่องราชอิสริยาภรณ์


การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยงบประมาณเงินแผ่นดินเท่านั้น
สอบถามรายละเอียดได้ที่
งานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ส่วนทรัพยากรบุคคล


ของที่ระลึกผู้เกษียณ 60 ปี


ของที่ระลึกสำหรับผู้เกษียณอายุ 60 ปี

หลักเกณฑ์และวิธีการ
ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานมหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุ 60 ปีในแต่ละปีงบประมาณ สามารถรับของที่ระลึกโดยแบ่งเป็น
1. รับแหวนทองคำน้ำหนัก 50 สตางค์ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติราชการและปฏิบัติงาน 20 ปีขึ้นไป
2. รับเช็คเงินสด มูลค่า 5,000 บาท สำหรับผู้ที่ปฏิบัติราชการและปฏิบัติงานต่ำกว่า 20 ปี


สวัสดิการด้านการบริการ

รถสวัสดิการรับส่ง ประสานมิตร - องครักษ์


รถบัสรับ - ส่งอาจารย์ บุคลากรปฏิบัติการ มศว ประสานมิตร และ มศว องครักษ์

(ตารางการเดินรถจากส่วนพัฒนากายภาพ ประจำปีการศึกษา)
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่อาจารย์ บุคลากรปฏิบัติการ มศว ประสานมิตร และ มศว องครักษ์ ในวันทำการ (จันทร์ – ศุกร์) รอบเช้าจากประสานมิตร เวลา 06.20 และ 06.30 น. และรอบเย็น จากองครักษ์ เวลา 16.40 น. สถานที่ขึ้นรถไป - กลับ บริเวณหอนาฬิกากลาง มศว ประสานมิตร – มศว องครักษ์ (อาคารเรียนรวม) ไม่เสียค่าใช้จ่าย


ห้องพักสวัสดิการประสานมิตร


ห้องพักสวัสดิการประสานมิตร

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. ผู้เข้าพักต้องเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเท่านั้น
2. ส่วนงานจะต้องทำหนังสือขออนุมัติจากรองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลตามแบบฟอร์มขอใช้ห้องพักสวัสดิการประสานมิตร สำหรับการให้เข้าพักและระยะเวลาการให้พักขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล (ยื่นเรื่องขอใช้บริการห้องพักล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ก่อนวันเข้าพัก)
3. ผู้เข้าพักจะเข้าพักได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. และออกจากห้องพักไม่เกินเวลา 12.00 น.ของวันที่แจ้งออก โดยขอรับกุญแจห้องได้ที่งานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ส่วนทรัพยากรบุคคล โดยชำระเงินค่าทำความสะอาดและค่าซักเครื่องนอน จำนวนเงิน 350 บาท/ครั้ง และจ่ายค่ามัดจำกุญแจ 200 บาท/ห้อง
4. ไม่อนุญาตให้นำบุคคลภายนอกและสัตว์เลี้ยงเข้ามาในห้องพัก
5. มหาวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบต่อทรัพย์สินมีค่าใด ๆ ของผู้เข้าพัก และหากทรัพย์สินที่มีอยู่ในห้องพักเกิดความเสียหาย ผู้เข้าพักต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย


ห้องพักสวัสดิการองครักษ์


ห้องพักสวัสดิการอาคารสโมสร มศว องครักษ์

หลักเกณฑ์และวิธีการ
1. บุคลากร นิสิต มศว บุคลากรภายนอกที่หน่วยงานเชิญ หรือ นิสิตแลกเปลี่ยนสามารถผู้เข้าพักได้
2. ผู้เข้าพักติดต่อส่วนพัฒนาความยั่งยืนแจ้งความประสงค์เข้าพักห้องพักสวัสดิการอาคารสโมสร มศว องครักษ์ เบอร์โทรศัพท์ 037-395-5369 ต่อ 21013